การบริหารจัดการศึกษาเพื่อสิทธิเด็กในโรงเรียนมัธยมศึกษา ตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก แห่งสหประชาชาติ

บทคัดย่อ

การวิจัยครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อทราบ 1) องค์ประกอบการบริหารจัดการศึกษาเพื่อสิทธิเด็กในโรงเรียนมัธยมศึกษา 2) รูปแบบการบริหารจัดการศึกษาเพื่อสิทธิเด็กในโรงเรียนมัธยมศึกษา ตามความคิดเห็นของสถานศึกษา 3) รูปแบบการบริหารจัดการศึกษาเพื่อสิทธิเด็กในโรงเรียนมัธยมศึกษา ตามความเห็นร่วมของสถานศึกษาและผู้เชี่ยวชาญ การวิเคราะห์องค์ประกอบและรูปแบบการบริหารจัดการศึกษาเพื่อสิทธิเด็กในโรงเรียนมัธยมศึกษา ตามความคิดเห็นของสถานศึกษา ใช้วิธีวิจัยเชิงปริมาณเครื่องมือที่ใช้ในการเก็บข้อมูล ได้แก่ แบบสอบถาม ผู้ให้ข้อมูลคือ ผู้บริหารโรงเรียน ครู และคณะกรรมการสถานศึกษา จากโรงเรียนกลุ่มตัวอย่าง 44 โรงเรียน รวม 308 คน สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ค่าความถี่ ค่าร้อยละ ค่ามัชฌิมเลขคณิตส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน การวิเคราะห์องค์ประกอบเชิงสำรวจ และการวิเคราะห์ความสัมพันธ์เชิงสาเหตุ การวิเคราะห์รูปแบบการบริหารจัดการศึกษาเพื่อสิทธิเด็กในโรงเรียนมัธยมศึกษา ตามความเห็นร่วมของสถานศึกษาและผู้เชี่ยวชาญ ใช้เทคนิควิจัยแบบ EDFR (Ethnographic Delphi Futures Research) เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บข้อมูลได้แก่ แบบสัมภาษณ์กึ่งโครงสร้าง และแบบสอบถาม ผู้ให้ข้อมูลได้แก่ ผู้เชี่ยวชาญ จำนวน 17 คน สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลได้แก่ ค่าความถี่ ค่ามัธยฐาน และค่าพิสัยระหว่างควอไทล์

ผลการวิจัยพบว่า

1.องค์ประกอบการบริหารจัดการศึกษาเพื่อสิทธิเด็กในโรงเรียนมัธยมศึกษา ประกอบด้วย 7 องค์ประกอบ ตามลำดับความสำคัญ คือ 1) การพัฒนาผู้เรียน 2) การดูแลช่วยเหลือนักเรียน 3) การจัดสภาพแวดล้อม 4) การเสริมสร้างความปลอดภัย 5) การมีส่วนร่วม 6) การวางแผน และ 7) การส่งเสริมสุขภาพ และยังพบว่าองค์ประกอบด้านการพัฒนาผู้เรียนประกอบด้วยองค์ประกอบย่อยอีก 7 ประการ ได้แก่ 1) การจัดการเรียนรู้ที่มีคุณภาพ 2) การไม่เลือกปฏิบัติ 3) การสื่อสาร 4) ทักษะชีวิต 5) วินัยเชิงบวก 6) การเห็นคุณค่าในตนเอง และ 7) ความรับผิดชอบ

2.รูปแบบการบริหารจัดการศึกษาเพื่อสิทธิเด็กในโรงเรียนมัธยมศึกษา ตามความคิดเห็นของสถานศึกษา พบว่า มี 7 องค์ประกอบ โดยองค์ประกอบด้านการดูแลช่วยเหลือนักเรียน การจัดสภาพแวดล้อม การเสริมสร้าง ความปลอดภัย การมีส่วนร่วม การวางแผน และการส่งเสริมสุขภาพ มีความสัมพันธ์โดยตรงกับองค์ประกอบด้านการพัฒนาผู้เรียน และรูปแบบมีความสอดคล้องกับข้อมูลเชิงประจักษ์

3.รูปแบบการบริหารจัดการศึกษาเพื่อสิทธิเด็กในโรงเรียนมัธยมศึกษา ตามความเห็นร่วมของสถานศึกษาและผู้เชี่ยวชาญ ประกอบด้วย หลักการบริหารจัดการ เงื่อนไขความสำเร็จ การวางแผนและการบริหารจัดการโดยรวม การพัฒนาผู้เรียน การดูแลช่วยเหลือนักเรียน การจัดสภาพแวดล้อม การเสริมสร้างความปลอดภัย การมีส่วนร่วม และการส่งเสริมสุขภาพ

วิธีวิจัย

วิธีวิจัยเชิงปริมาณและกลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยโดยเทคนิควิจัยแบบ EDFR

ผู้แต่ง

สิริมา หมอนไหม สาขาวิชาการบริหารการศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร

นพดล เจนอักษร สาขาวิชาการบริหารการศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร

ชื่อวารสาร

วารสารการศึกษา มหาวิทยาลัยศิลปากร

ปี: 2555

ลิงก์เพื่อดูข้อมูลเพิ่มเติม

แชร์โพสนี้ :

Facebook
Twitter
LinkedIn

โพสที่เกี่ยวข้อง :