Author
ชดาพิมพ์ เผ่าสวัสดิ์
สถาบันราชานุกูล, กรุงเทพฯ
จันทร์อาภา สุขทัพภ์
สถาบันราชานุกูล, กรุงเทพฯ
ประเสริฐ จุฑา
สถาบันราชานุกูล, กรุงเทพฯ
บุษรา คูหพันธ์
สถาบันราชานุกูล, กรุงเทพฯ
Abstract
วัตถุประสงค์: พัฒนาและศึกษาผลของโปรแกรมเสริมสร้างความผูกพันทางอารมณ์สำหรับผู้ดูแลเด็กอายุ 2-5 ปี
วิธีการ: การศึกษาด้วยกระบวนการวิจัยและพัฒนา 3 ระยะ 1) การพัฒนาโปรแกรมฯ ประกอบด้วย คู่มือการจัดกิจกรรมสำหรับวิทยากร และคู่มือสำหรับผู้ดูแล 2) การแปลแบบประเมินความผูกพันทางอารมณ์เด็กแรกเกิด–5 ปีสำหรับผู้ดูแล ฉบับภาษาไทย 3) การประเมินผลของโปรแกรมฯ ใช้รูปแบบ randomized controlled trial กลุ่มตัวอย่างคือผู้ดูแลเด็กวัย 2-5 ปี ที่มีพัฒนาการสมวัย ในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ 6 จังหวัด โดยกลุ่มทดลองได้รับกิจกรรมตามโปรแกรมฯ กลุ่มควบคุมได้รับการดูแลตามปกติ ประเมินผลด้วยแบบประเมินความผูกพันทางอารมณ์สำหรับผู้ดูแลฉบับภาษาไทย ก่อนและหลังจบโปรแกรม 2 และ 12 สัปดาห์ วิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติเชิงพรรณนาและ repeated measure ANOVA
ผล: โปรแกรมฯประกอบด้วยแผนกิจกรรมการสร้างความผูกพันทางอารมณ์ 5 แผน ผ่านกระบวนการกลุ่มการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม กลุ่มละ 8-12 คน ครั้งละ 90 นาที 1 ครั้งต่อสัปดาห์ รวม 5 สัปดาห์ มีผู้ดูแลในการศึกษาทั้งสิ้น 147 คน แบ่งเป็นกลุ่มทดลอง 82 คนและกลุ่มควบคุม 65 คน ก่อนการทดลอง คะแนนเฉลี่ยความผูกพันทางอารมณ์ของทั้ง 2 กลุ่มไม่แตกต่างกัน เมื่อเวลาผ่านไป 2 สัปดาห์และ 12 สัปดาห์ คะแนนเฉลี่ยความผูกพันทางอารมณ์ของกลุ่มทดลองลดลงมากกว่ากลุ่มควบคุมและแนวโน้มของคะแนนในกลุ่มทดลองจากสัปดาห์ที่ 2 ถึงสัปดาห์ที่ 12 มีแนวโน้มลดลง ในขณะที่คะแนนของกลุ่มควบคุมมีแนวโน้มกลับมาเหมือนเดิม
สรุป: โปรแกรมเสริมสร้างความผูกพันทางอารมณ์สำหรับผู้ดูแลเด็กปฐมวัย เป็นโปรแกรมที่มีโครงสร้างและขั้นตอนการทำกิจกรรมที่ชัดเจน บุคลากรทางสาธารณสุขสามารถนำไปใช้ได้ง่าย และใช้เวลาน้อย
Journal Journal of Mental Health of Thailand
Year 2019
Link for more information https://he01.tci-thaijo.org/index.php/jmht/article/view/183895