ความเข้มแข็งทางใจของนักเรียนยากจน: กรณีนักเรียนที่ได้รับทุนเสมอภาคทางการศึกษา

Abstract

นักเรียนที่อยู่ในครอบครัวยากจนมีโอกาสเสี่ยงสูงต่อการมีปัญหาสุขภาพจิต ซึ่งปัจจัยป้องกันที่สำคัญคือความเข้มแข็งทางใจ งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อทำความเข้าใจสถานการณ์ของความยากลำบากในชีวิต และลักษณะความเข้มแข็งทางใจของนักเรียนที่ได้รับทุนเสมอภาคทางการศึกษา รูปแบบการวิจัยเป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ รูปแบบกรณีศึกษา พื้นที่วิจัยคือโรงเรียนมัธยมศึกษาแห่งหนึ่งในจังหวัดปทุมธานี ผู้ให้ข้อมูลสำคัญคือนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นที่ได้รับทุนเสมอภาคทางการศึกษา จำนวน 4 คน ผู้ปกครองและครูของนักเรียนผู้ให้ข้อมูล อย่างละ 1 คน รวมจำนวนผู้ให้ข้อมูลทั้งหมด 12 ราย ใช้วิธีคัดเลือกแบบเจาะจงตามเกณฑ์การคัดเลือก เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล ได้แก่ การสัมภาษณ์เชิงลึก ด้วยคำถามปลายเปิดแบบกึ่งโครงสร้าง วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้การวิเคราะห์เนื้อหา และสร้างข้อสรุปแบบอุปนัยเพื่อตอบวัตถุประสงค์การวิจัย ผลการวิจัยแบ่งออกเป็น 3 ประเด็นหลัก ได้แก่ ประเด็นหลักที่ 1 สถานการณ์ความยากลำบาก ประกอบด้วย 2 ประเด็นรอง คือ
1) ความยากลำบากที่เกิดขึ้นร่วมกับครอบครัว 2) ความยากลำบากที่เกิดขึ้นในบริบทด้านการเรียนและส่วนตัว ประเด็นหลักที่ 2 สิ่งสนับสนุนหรือทรัพยากร ประกอบด้วย 2 ประเด็นรอง คือ 1) สิ่งสนับสนุนภายนอกตัวนักเรียน แบ่งประเด็นย่อยเป็นการสนับสนุนทางอารมณ์ การสนับสนุนทางการรับรองเห็นชอบ การสนับสนุนทางการให้ข้อมูล การสนับสนุนทางวัตถุหรือเงิน  2) สิ่งสนับสนุนภายในตัวนักเรียน แบ่งประเด็นย่อยเป็นคุณลักษณะ และทักษะความสามารถ ประเด็นหลักที่ 3 การเปลี่ยนแปลงหลังเผชิญความยากลำบาก ประกอบด้วย 3 ประเด็นรอง คือ 1) การเปลี่ยนความคิด 2) การเปลี่ยนความรู้สึก 3) การเปลี่ยนพฤติกรรม ข้อค้นพบจากงานวิจัยนี้สามารถนำไปออกแบบโปรแกรมเสริมสร้างความเข้มแข็งทางใจสำหรับนักเรียนที่อยู่ในครอบครัวยากจนได้ โดยอาศัยการมีส่วนร่วมของครูและผู้ปกครอง

Keywords ความเข้มแข็งทางใจ นักเรียนยากจน ทุนเสมอภาคทางการศึกษา

Author ศิริวรรณ กำแพงพันธ์ นฤมล พระใหญ่ ฐาศุกร์ จันประเสริฐ

Journal: วารสารสหวิทยาการมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์

Year: 2023

For more information please click: https://so04.tci-thaijo.org/index.php/jmhs1_s/article/view/267219

Share :

Facebook
Twitter
LinkedIn

Related Posts :