บทคัดย่อ
บทนำ: บทความนี้เป็นบทความฟื้นฟูวิชาการ ทบทวนวรรณกรรมเกี่ยวกับสติในการเลี้ยงดู (Mindful Parenting) เพื่อเป็นประโยชน์แก่ผู้สนใจศึกษาและพัฒนาองค์ความรู้ด้านสติในการเลี้ยงดูเชิงพุทธ ซึ่งจะนำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและคลายทุกข์จากการเลี้ยงดูได้ต่อไป
เนื้อหา: สติในการเลี้ยงดูที่พัฒนาขึ้นโดยนักจิตวิทยาตะวันตก มาจากนิยามสติในงานจิตบำบัด คือ การตระหนักรู้ที่เกิดขึ้นผ่านการจดจ่อความสนใจอย่างมีจุดมุ่งหมาย เป็นปัจจุบันขณะ และไม่ตัดสินประสบการณ์ที่เกิดขึ้น เพื่อผลในการพัฒนาจิตใจพ่อแม่ ทางด้านอารมณ์ ความคิด การปฏิสัมพันธ์กับลูก มีความแตกต่างที่สำคัญกับการพัฒนาสติในทางพุทธ ที่เป็นไปเพื่อการขจัดทุกข์ทางจิตใจ จากการพิจารณาความจริงอันเป็นธรรมดาของสิ่งที่อยู่ในการระลึกรู้ สติในการเลี้ยงดูจึงเกิดขึ้นได้จากการตามรับรู้ทันสิ่งที่เกิดขึ้นขณะดูแลบุตร แล้วนำให้ปัญญาสอดส่องพิจารณาสิ่งที่ตนเองระลึกอยู่ในการเลี้ยงดูนั้น
สรุป: การใช้สติในการเลี้ยงดูบุตรในทางพุทธศาสนา เป็นการให้ความสนใจและพิจารณาความจริงตามธรรมชาติของบุตรและสถานการณ์ในการเลี้ยงดู นำมาสู่การคลายความยึดมั่น และจัดการสถานการณ์ได้อย่างเหมาะสม สามารถส่งเสริมสุขภาวะของทั้งเด็กและผู้เลี้ยงดูได้ควบคู่กัน
วิธีวิจัย
ทบทวนวรรณกรรมเกี่ยวกับสติในการเลี้ยงดู (Mindful Parenting)
ผู้แต่ง
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ณัฐสุดา เต้พันธ์, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
พรรณพนัช แซ่เจ็ง
ชื่อวารสาร
จิตเวชวิทยาสาร
ปี: 2020