บทคัดย่อ
วัตถุประสงค์: เพื่อศึกษาการเลี้ยงดูเชิงบวกของผู้ปกครองผู้ป่วยเด็กสมาธิสั้นที่มารับการรักษาในโรงพยาบาลราชบุรีปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการเลี้ยงดูเชิงบวกและความสัมพันธ์ระหว่างการเลี้ยงดูเชิงบวกของผู้ปกครองกับระดับความรุนแรงของอาการสมาธิสั้น
วิธีการศึกษา: เป็นการวิจัยเชิงพรรณนา ณ จุดเวลาหนึ่ง (cross sectional descriptive study)โดยวิธีการทบทวนเวชระเบียนของผู้ป่วยเด็กสมาธิสั้นอายุ 6 ถึง 18 ปี ที่เข้ามารับการรักษาในคลินิกจิตเวชเด็กและวัยรุ่นโรงพยาบาลราชบุรี ระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม 2561 ถึง 30 กันยายน 2562 ใช้กลุ่มตัวอย่าง 277 รายเครื่องมือที่ใช้คือแบบบันทึกข้อมูลทั่วไป แบบสอบถามการเลี้ยงดูเชิงบวกของผู้ปกครอง และแบบวัดความรุนแรงของโรคสมาธิสั้น วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน สัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ และวิเคราะห์การถดถอยพหุคูณ
ผลการศึกษา:พบว่ากลุ่มตัวอย่างมีคะแนนการเลี้ยงดูเชิงบวกเฉลี่ยเท่ากับ 26.75 คะแนนการเลี้ยงดูเชิงบวกมีความสัมพันธ์กับระดับความเข้าใจในครอบครัว (Pearson’s correlation = 0.351 , p value < .01) แต่ไม่มีความสัมพันธ์กับระดับความรุนแรงของอาการสมาธิสั้นเมื่อวิเคราะห์การถดถอยพหุคูณพบว่าระดับความเข้าใจในครอบครัวเป็นปัจจัยทำนายการเลี้ยงดูเชิงบวกได้ร้อยละ12 และมีสัมประสิทธิ์การถดถอยเท่ากับ1.88
สรุป: ผู้ปกครองผู้ป่วยเด็กสมาธิสั้นในโรงพยาบาลราชบุรีมีระดับการเลี้ยงดูเชิงบวกอยู่ในระดับต่ำถึงปานกลาง และความเข้าใจกันในครอบครัวเป็นปัจจัยทำนายพฤติกรรมการเลี้ยงดูเชิงบวกของผู้ปกครอง
วิธีวิจัย
การวิจัยเชิงพรรณนา ณ จุดเวลาหนึ่ง (cross sectional descriptive study)
ผู้แต่ง
เลิศศักดิ์ รุ่งเหมือนพร พ.บ.,โรงพยาบาลราชบุรี
วารสาร
วารสารแพทย์ เขต 4-5 (Region 4-5 Medical Journal)
ปี: 2563