ผู้แต่ง
วิวรรณา คล้ายคลึง
วรรณี เดียวอิศเรศ
จินตนา วัชรสินธุ์
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาระดับความเครียดในการทำบทบาทแม่ของ ย่า/ยายที่เลี้ยงดูหลาน และปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับความเครียดในการทำบทบาทแม่ของย่า/ยายที่เลี้ยงดูหลานวัยขวบปีแรก กลุ่มตัวอย่างคือ ย่า/ยายที่ทำบทบาทหลักแทนพ่อแม่เป็นผู้เลี้ยงดูหลานวัยขวบปีแรก เป็นระยะเวลา 1 เดือนขึ้นไปในจังหวัดอุบลราชธานี จังหวัดร้อยเอ็ด และจังหวัดสกลนคร จำนวน 100 ราย คัดเลือกโดยการสุ่มแบบหลายขั้นตอน เก็บข้อมูลโดยใช้แบบสอบถามประกอบด้วยแบบสอบถามข้อมูลส่วนบุคคล แบบสอบถามความเครียดในการทำบทบาทแม่ของย่า/ยายที่เลี้ยงดูหลาน แบบสอบถามความรู้สึกเป็นภาระในการดูแล แบบสอบถามความรู้สึกมีคุณค่าต่อตนเองในการทำบทบาท และแบบสอบถามการสนับสนุนทางสังคมของครอบครัว วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติเชิงพรรณนาและสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ของเพียร์สัน
ผลการวิจัยพบว่า ย่า/ยายที่เลี้ยงดูหลานวัยขวบปีแรก มีความเครียดในภาพรวมอยู่ในระดับสูง ร้อยละ 36.00 ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์ทางบวกอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติกับความเครียดในการทำบทบาทแม่ของ ย่า/ยายที่เลี้ยงดูหลาน ได้แก่ ความรู้สึกเป็นภาระด้านการเงิน (r =.249, p<.05) ความรู้สึกเป็นภาระด้านกิจวัตรประจำวัน (r =.306, p<.01) และความรู้สึกเป็นภาระด้านสุขภาพ (r =.350, p<.01) และปัจจัยที่มีความสัมพันธ์ทางลบอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติกับความเครียดในการทำบทบาทแม่ของย่า/ยายที่เลี้ยงดูหลาน ได้แก่ ความรู้สึกมีคุณค่าต่อตนเองในการทำบทบาท (r =-.266, p<.01) และการสนับสนุนทางสังคมจากครอบครัว (r = -.314, p<.01) ผลการวิจัยครั้งนี้เสนอแนะให้ พยาบาลที่ปฏิบัติงานเกี่ยวข้องกับการดูแลย่า/ยายที่เลี้ยงดูหลาน ควรมีการประเมินความเครียดในการทำบทบาทของย่า/ยายอย่างต่อเนื่อง และให้การพยาบาลเพื่อส่งเสริมการสนับสนุนทางสังคมและลดภาระด้านต่างๆให้แก่ย่า/ยาย
วิธีวิจัย:
การคัดเลือกโดยการสุ่มแบบหลายขั้นตอน
วารสาร:
วารสารคณะพยาบาลศาสตร์มหาวิทยาลัยบูรพา
ปี: 2018
ลิงค์เพื่อศีกษาเพิ่มเติม: https://he02.tci-thaijo.org/index.php/Nubuu/article/view/116411