ผู้แต่ง:
ดวงฤทัย เสมคุ้มหอม
วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี จักรีรัช
อาภาวรรณ หนูคง
สมสิริ รุ่งอมรรัตน์
นวลจันทร์ จุฑาภักดีกุล
บทคัดย่อ
วัตถุประสงค์: เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างพัฒนาการด้านภาษาของเด็ก พฤติกรรมการเลี้ยงดูเด็กและความเครียดของผู้ปกครองกับการคิดเชิงบริหารในเด็กก่อนวัยเรียน
รูปแบบการวิจัย: การวิจัยเชิงความสัมพันธ์
วิธีดำเนินการวิจัย: กลุ่มตัวอย่างเป็นผู้ปกครองและเด็กก่อนวัยเรียน จำนวน 100 คู่ ที่เข้ารับบริการในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กและโรงเรียนอนุบาล 3 แห่ง อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี เก็บข้อมูลโดยใช้แบบสอบถามข้อมูลส่วนบุคคล แบบสอบถามพฤติกรรมการเลี้ยงดูเด็กของผู้ปกครอง แบบประเมินความเครียดของผู้ปกครอง แบบประเมินพัฒนาการด้านการคิดเชิงบริหารในเด็กก่อนวัยเรียนและคัดกรองพัฒนาการเด็กด้วยคู่มือเฝ้าระวังและส่งเสริมพัฒนาการเด็กปฐมวัย (DSPM) วิเคราะห์ความสัมพันธ์พัฒนาการด้านภาษากับการคิดเชิงบริหารด้วยสถิติ Mann Whitney U test และวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างพฤติกรรมการเลี้ยงดูเด็กและความเครียดของผู้ปกครองกับการคิดเชิงบริหารด้วยสถิติ Spearman’s correlation
ผลการวิจัย: เด็กก่อนวัยเรียนมีคะแนนมาตรฐานทีของการคิดเชิงบริหารในระดับดีมาก (M = 61.59, SD = 8.18) พัฒนาการด้านการเข้าใจภาษาและด้านการใช้ภาษาของเด็กมีความสัมพันธ์ทางบวกกับการคิดเชิงบริหารของเด็ก (Z = 3.36, 5.06, p < .001) พฤติกรรมการเลี้ยงดูเชิงลงโทษของผู้ปกครองมีความสัมพันธ์ทางบวกกับการคิดเชิงบริหารของเด็ก (r = .21, p < .05) และความเครียดของผู้ปกครองมีความสัมพันธ์ทางลบกับการคิดเชิงบริหารของเด็ก (r = -.44, p <.01)
สรุปและข้อเสนอแนะ: บุคลากรทางสุขภาพควรร่วมมือกับครู/ผู้ดูแลส่งเสริมให้ผู้ปกครองมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการคิดเชิงบริหารและวิธีการส่งเสริมการคิดเชิงบริหารของเด็ก ครู/ผู้ดูแลและผู้ปกครองควรได้รับการสนับสนุนให้คัดกรองพัฒนาการเด็กได้ และบุคลากรทางสุขภาพควรประเมินพฤติกรรรมการเลี้ยงดูและความเครียดของผู้ปกครองเมื่อพาเด็กมารับบริการสุขภาพ
วิธีวิจัย:
การวิจัยเชิงความสัมพันธ์
วารสาร:
วารสารสภาการพยาบาล
ปี: 2019
ลิงค์เพื่อศึกษาข้อมูลเพิ่มเติม: https://he02.tci-thaijo.org/index.php/TJONC/article/view/191264