เกี่ยวกับชุมชน

ชุมชนผู้ปฏิบัติงานด้านการเลี้ยงดูเด็กเชิงบวกในประเทศไทย

วัตถุประสงค์

ชุมชนผู้ปฏิบัติงานด้านการเลี้ยงดูเด็กเชิงบวกในประเทศไทย (TPP CoP) จัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นการสนับสนุน และส่งเสริมการแลกเปลี่ยนความรู้ และร่วมมือกันในการขยายงานการเลี้ยงดูเด็กเชิงบวกเพื่อให้เกิดการคุ้มครองเด็ก ความอยู่ดีมีสุข และพัฒนาการที่ดีของเด็กในประเทศไทย

TPP CoP จะดำเนินการในลักษณะเครือข่ายพันธมิตร เพื่อแบ่งปันประสบการณ์ บทเรียนที่ได้รับ ผลการวิจัย ข้อมูลของหลักสูตรการอบรม และกลยุทธ์ในการปฏิบัติงาน ตลอดจนเปิดโอกาสในการเป็นกระบอกเสียงร่วมกันในการส่งเสริมการเลี้ยงดูเด็กเชิงบวก

TPP CoP จะดำเนินการโดยสมาชิกและไม่มีค่าใช้จ่ายในการเป็นสมาชิกสำหรับทุกคน

ภูมิหลัง

คำจำกัดความของ CoP “ชุมชนผู้ปฏิบัติงาน” หมายถึง “กลุ่มคนที่มีความห่วงใยในประเด็นปัญหาหรือมีความสนใจเป็นอย่างมากในประเด็นใดประเด็นหนึ่งร่วมกันและเพิ่มพูนความรู้ความเชี่ยวชาญในด้านนี้ให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้นโดยผ่านการมีปฏิสัมพันธ์กันอย่างต่อเนื่อง” ชุมชนดังกล่าวทำให้เกิดปฏิสัมพันธ์ระหว่างสมาชิก เช่น ผ่านการเสวนาและทำกิจกรรมร่วมกัน มีการแลกเปลี่ยนแนวทางการปฏิบัติงาน ประสบการณ์ และเครื่องมือร่วมกันเพื่อแก้ไขปัญหาที่พวกเขาเผชิญด้วยกัน CoP ส่งเสริมความเป็นมืออาชีพและพัฒนาตนเองของสมาชิกในสาขาเฉพาะโดยการแบ่งปันความรู้และความพยายามในการแก้ปัญหาร่วมกัน

โครงการการเลี้ยงดูเด็กเชิงบวก:
การวิจัยกว่า 50 ปีเกี่ยวกับหลักสูตรการอบรมเรื่องการเลี้ยงดูเด็กเชิงบวก มีส่วนสนับสนุนให้มีหลักฐานเพิ่มมากขึ้นว่าหลักสูตรดังกล่าวเป็นวิธีการหนึ่งที่มีประสิทธิภาพสูงสุดในการป้องกันการทารุณกรรมเด็ก การปรับปรุงการเลี้ยงดูที่ตอบสนองความต้องการของเด็กได้ดีขึ้น และเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่และลูก

การทบทวนงานวิจัยในด้านนี้อย่างเป็นระบบได้แสดงให้เห็นว่าหลักสูตรการอบรมเรื่องการเลี้ยงดูเด็กเชิงบวกช่วยให้ผู้ปกครองเลี้ยงดูเด็กเชิงบวกได้มากขึ้น ลดการเลี้ยงดูเด็กแบบใช้ความรุนแรง และลดอัตราความรุนแรงต่อเด็กลงอย่างเห็นได้ชัด ทั้งในประเทศที่มีรายได้ต่ำและรายได้ปานกลาง นอกจากนี้ การวิจัยอย่างรัดกุมได้แสดงให้เห็นว่าการอบรมผู้ปกครองเรื่องการเลี้ยงดูเด็กเชิงบวกสามารถลดผลกระทบที่ไม่พึงประสงค์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับเด็กได้สำเร็จ เช่น ลดปัญหาพฤติกรรมเด็ก ลดปัญหาทางอารมณ์ของเด็ก เพิ่มความสามารถในการเลี้ยงดูเด็กและลดความเครียดของผู้ปกครอง และลดภาวะซึมเศร้าของมารดาได้

ด้วยเหตุนี้องค์การอนามัยโลก ยูนิเซฟ ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐอเมริกา มหาวิทยาลัยอ๊อกซฟอร์ต รวมทั้งองค์กรและสถาบันอื่นๆ อีกหลายแห่งจึงเสนอแนะให้ใช้หลักสูตรการอบรมเรื่องการเลี้ยงดูเด็กเชิงบวก ให้เป็นการลงทุนที่สำคัญสำหรับรัฐบาลและองค์กรเอกชน เพื่อที่จะช่วยให้ประเทศต่างๆ บรรลุเป้าหมายในการการพัฒนาที่ยั่งยืนในปี 2030 และพิทักษ์สิทธิเด็กในการที่จะได้รับการพัฒนาและคุ้มครอง

เป้าหมายโดยรวม

เพื่อสร้างชุมชนที่มีสมาชิกเป็นบุคคลหรือองค์กรที่มุ่งให้ความสนใจกับการเผยแพร่ ส่งเสริม แลกเปลี่ยนความรู้ ริเริ่มความคิดใหม่ๆ และร่วมกันสร้างยุทธศาสตร์ความร่วมมือด้านการเลี้ยงดูเด็กเชิงบวกในประเทศไทยที่มีการวิจัยรองรับ

วัตถุประสงค์เฉพาะของ CoP คือ

  1. การแลกเปลี่ยนความรู้: แบ่งปันประสบการณ์และการเรียนรู้ที่ได้จากการนำหลักสูตรการอบรมเรื่องการเลี้ยงดู
    เด็กไปประยุกต์ใช้จากงานวิจัยในปัจจุบันเกี่ยวกับการเลี้ยงดูเด็กเชิงบวกทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ เครื่องมือสำหรับการอบรมหลักสูตรการเลี้ยงดูเด็ก และการเก็บข้อมูล วิธีการติดตาม ตรวจสอบและประเมินผล ตลอดจนระบุช่องว่างที่ยังมีอยู่เพื่อทำการวิจัยและปฏิบัติการเพิ่มเติมต่อไป
  2. การพัฒนาเครื่องมือและแนวทางการปฏิบัติงาน: ริเริ่มแนวทางการปฏิบัติใหม่นโยบาย ประกาศการแสดงจุดยืน (position papers) และเครื่องมือวิเคราะห์เพื่อส่งเสริมการพัฒนานโยบายและหลักสูตรการอบรมเรื่องการเลี้ยงดูเด็กเชิงบวกในประเทศไทย
  3. การร่วมมือกันในการเผยแพร่งานด้านนี้: ส่งเสริมการขยายงานด้านการอบรมเรื่องการเลี้ยงดูเด็กเชิงบวกโดยผ่านการเจรจาและการร่วมมือกับรัฐบาล องค์การสหประชาชาติ องค์กรเอกชนและหน่วยงานภาคเอกชน

 เกณฑ์การเป็นสมาชิก

ไม่มีค่าใช้จ่ายสำหรับการเป็นสมาชิกและเปิดรับทุกคนที่มีความสนใจในหลักสูตรการอบรมเรื่องการเลี้ยงดูเด็กเชิงบวกในประเทศไทย

สมาชิกอาจประกอบด้วยผู้ปฏิบัติงานด้านการอบรมเรื่องการเลี้ยงดูเด็ก ผู้นำหลักสูตรไปใช้ นักวิจัย ผู้ส่งเสริมการเผยแพร่ และผู้บริจาคทุน สมาชิกสามารถเข้าร่วมในนามของบุคคลหรือในนามขององค์กรที่ตนทำงานด้วยก็ได้

การลงทะเบียนสมาชิก: การลงทะเบียนสมาชิกจะทำได้โดยผ่านเว็บไซต์ของ TPP CoP

ค่านิยมหลัก

ค่านิยมหลักต่อไปนี้ใช้ได้กับสมาชิกทุกคน:

  • การเคารพในสิทธิเด็ก: สมาชิกยอมรับอย่างเต็มที่ว่าประเทศไทยได้ให้สัตยาบันรับรองอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก พ.ศ. 2532 และในการปฏิบัติงานและแนวทางการทำงานของเราจะยึดถือเอาผลประโยชน์สูงสุดของเด็ก สิทธิของเด็กในการอยู่รอด การพัฒนา การได้รับการคุ้มครอง และการมีส่วนร่วมเสมอ
  • การไม่แบ่งแยก: สมาชิกยินดีต้อนรับความหลากหลายและความเป็นหนึ่งเดียวกันของกลุ่มเพื่อนสมาชิกทั้งหมด ตลอดจนสร้างบรรยากาศของชุมชนที่ทุกคนสามารถมีส่วนร่วมได้อย่างเต็มที่
  • เคารพต่อสมาชิก: สมาชิกทุกคนปฏิบัติต่อกันด้วยความเคารพและให้เกียรติโดยตระหนักว่าทุกคนเพิ่มคุณค่าให้กลุ่มได้แม้ว่าจะมีความคิดและประสบการณ์ที่แตกต่างกัน
  • การรักษาความลับ: สมาชิกทุกคนจะรักษาความลับของเด็ก ผู้ปกครองและสมาชิกครอบครัวคนอื่นๆ ที่เข้าร่วมในการอบรมเรื่องการเลี้ยงดูเด็กเชิงบวกและต้องทำให้แน่ใจว่ากรณีศึกษาหรือข้อมูลใดๆ ที่แลกเปลี่ยนกันภายใน TPP CoP จะได้รับการปกป้องความเป็นส่วนตัวของผู้เข้าร่วมโครงการอย่างมีประสิทธิภาพ
  • การมีงานวิจัยรองรับ: สมาชิกทุกคนตระหนักถึงความสำคัญของการใช้วิธีการที่ได้มีการวิจัยแล้วว่ามีประสิทธิภาพจริง

การสื่อสารในชุมชน

เว็บไซต์

จุดเชื่อมต่อของการสื่อสารระหว่างสมาชิก CoP จะเป็นเว็บไซต์ www.thaipositiveparentingcommunity.org

ในเว็บไซต์จะมีเวทีอภิปรายและพื้นที่สำหรับการแบ่งปันข้อมูลที่เป็นประโยชนแก่สมาชิก รวมถึงการศึกษาวิจัย สรุปโครงการ กรณีศึกษา นโยบายและเอกสารที่เป็นเนื้อหาของหลักสูตรการอบรม และกิจกรรมที่เกี่ยวข้องที่กำลังจะเกิดขึ้น

จดหมายข่าว

CoP จะออกจดหมายข่าวรายไตรมาสเพื่อให้สมาชิกได้รับทราบข้อมูลการวิจัยล่าสุดเกี่ยวกับการเลี้ยงดูเด็กเชิงบวกทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ การเปลี่ยนแปลงใหม่ ๆ ของสมาชิก เครื่องมือและแนวทางการปฏิบัติงานใหม่ รวมถึงกิจกรรมที่กำลังจะมีขึ้น

การประชุม 

การประชุม CoP จะจัดขึ้นทุก ๆ สองเดือน ในรูปแบบการสัมมนาทางอินเตอร์เนต (webinar) หรือแบบพบตัว (in-person)
โดยจะประกาศเกี่ยวกับการประชุมที่จะจัดขึ้นไว้บนเว็บไซต์ของ TPP CoP และส่งไปยังสมาชิก TPP CoP ที่ลงทะเบียนผ่านทางอีเมล

กรรมการบริหารงาน ได้แก่ 

  1. ผศ.ดร. สมบัติ ตาปัญญา จาก มูลนิธิศานติวัฒนธรรม
  2. ดร. แอมมาลี แม็คคอย จาก มูลนิธิศานติวัฒนธรรม
  3. ผศ.ดร. ปนัดดา ธนเศรษฐกร จาก สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล

ผู้ประสานงาน

คุณเฉลิมขวัญ ชุติมา จาก มูลนิธิศานติวัฒนธรรม

ซึ่งสามารถติดต่อได้ทางอีเมล (thaipositiveparentingcop@gmail.com) หากมีข้อซักถามเกี่ยวกับการเข้าเป็นสมาชิกใหม่และข้อสงสัยด้านการบริหารจัดการ