ผลของการสอนแนะพฤติกรรมการเลี้ยงดูของครอบครัว ต่ออาการออทิสติกของเด็กออทิสติกวัยก่อนเรียน

บทคัดย่อ

วัตถุประสงค์: เพื่อเปรียบเทียบอาการออทิสติกของเด็กออทิสติกวัยก่อนเรียนก่อนและหลังได้รับการสอนแนะพฤติกรรมการเลี้ยงดูของครอบครัว และเปรียบเทียบอาการออทิสติกของเด็กออทิสติกวัยก่อนเรียนระหว่างกลุ่มที่ได้รับการสอนแนะพฤติกรรมการเลี้ยงดูของครอบครัวกับกลุ่มที่ได้รับการพยาบาลปกติ

รูปแบบการวิจัย: การวิจัยกึ่งทดลอง

วิธีดำเนินการวิจัย: กลุ่มตัวอย่าง คือ เด็กออทิสติกอายุ 3-6 ปี และครอบครัวที่มารับบริการที่แผนกผู้ป่วยใน สถาบันราชานุกูล ซึ่งมีคุณสมบัติตามเกณฑ์ โดยได้รับการจับคู่ (Matched pair) และการสุ่มเข้ากลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุม จำนวนกลุ่มละ 20 คู่ กลุ่มทดลองได้เข้าร่วมการสอนแนะพฤติกรรมการเลี้ยงดูของครอบครัวต่ออาการออทิสติกของเด็กออทิสติกวัยก่อนเรียนเป็นระยะเวลา 6 สัปดาห์ ส่วนกลุ่มควบคุมได้รับการพยาบาลตามปกติ เครื่องมือที่ใช้ในการทดลอง คือ คู่มือการสอนแนะพฤติกรรมการเลี้ยงดูของครอบครัวสำหรับพยาบาล และคู่มือการดูแลเด็กออทิสติกสำหรับครอบครัว เก็บข้อมูลโดยใช้แบบประเมินอาการรุนแรงของโรคออทิสซึม แบบประเมินความสามารถของครอบครัวในการเลี้ยงดูเด็กออทิสติก มีค่าดัชนีความตรงตามเนื้อหาเท่ากับ .87 และ .88 ตามลำดับ และมีค่าความเที่ยงสัมประสิทธิ์แอลฟาครอนบาค เท่ากับ .92 และ .89 ตามลำดับ วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติทดสอบที (t-test)

ผลการวิจัย: 1) อาการออทิสติกของเด็กออทิสติกวัยก่อนเรียนหลังได้รับการสอนแนะพฤติกรรมการเลี้ยงดูของครอบครัวน้อยกว่าก่อนได้รับการสอนแนะอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .00 และ 2) อาการออทิสติกหลังการทดลองของเด็กออทิสติกวัยก่อนเรียนที่ได้รับการสอนแนะพฤติกรรมการเลี้ยงดูของครอบครัวลดลงมากกว่ากลุ่มที่ได้รับการพยาบาลตามปกติแต่ไม่แตกต่างกัน

สรุป: การสอนแนะพฤติกรรมการเลี้ยงดูของครอบครัวช่วยให้อาการออทิสติกของเด็กออทิสติกวัยก่อนเรียนลดลงได้

วิธีวิจัย

เป็นการวิจัยกึ่งทดลอง (Quasi experimental research) ใช้รูปแบบสองกลุ่มวัดก่อนและหลังการทดลอง(The pretest–posttest control group design)

ผู้แต่ง

ณัฐิรา ทิวาโต
จินตนา ยูนิพันธุ์
สุนิศา สุขตระกูล

ชื่อวารสาร

วารสารพยาบาลศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ปี: 2556

ลิงก์เพื่อดูข้อมูลเพิ่มเติม

แชร์โพสนี้ :

Facebook
Twitter
LinkedIn

โพสที่เกี่ยวข้อง :